วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติ ขสมก.

ตราสัญลักษณ์



องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ใช้ตราสัญลักษณ์มาแล้วสองรูปแบบ กล่าวคือ นับแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 องค์การฯ ใช้ตราสัญลักษณ์ เป็นภาพวงกลมที่มีเส้นรอบวงเป็นสีแดงขอบหนา มีป้ายรูปหกเหลี่ยมสีน้ำเงินเข้มคาดทับ ตามแนวขวางในส่วนกลางของวงกลม บนป้ายมีอักษรสีขาว เป็นชื่อเต็มขององค์การฯ คือ "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" ซึ่งใช้มาจนถึงวันที่ 30 กันยายนพ.ศ. 2535 จึงเปลี่ยนไปใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ ซึ่งเริ่มปรากฏบนรถโดยสารบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เป็นภาพวงรีสีเขียว ปลายทั้งสองวางตามแนวบนขวาไปล่างซ้าย มีอักษรย่อขององค์การฯ คือ "ขสมก" สีน้ำเงิน ลักษณะเอนไปทางขวา คาดทับตามแนวขวางในส่วนกลางของวงรี หลังจากนั้น องค์การฯ ก็เร่งทยอยเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ที่แสดงบนรถโดยสาร จนราวต้นปี พ.ศ. 2536 จึงดำเนินการแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ และใช้ตราสัญลักษณ์รูปแบบดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน




วันนี้จึงรับอาสาพาย้อนไปดูเหตุการณ์ในอดีตก่อนที่รถเมล์จะรวมกันเป็น ขสมก.ว่าเขาคุยกันอย่างไร

โดย...สมาน สุดโต

ข่าวเรื่องกระทรวงคมนาคมจะจัดหารถเมล์มาวิ่งเพิ่มเติมในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากที่มีความพยายามจะเช่ารถเมล์ใช้เอ็นจีวี 4,000 คัน ตามมาด้วยโครงการเร่งด่วนตามข้อเสนอสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ให้เร่งจัดหารถเมล์ 500 คัน มาแทนรถที่ต้องซ่อมและถูกเผาเมื่อปีที่แล้ว

วันนี้จึงรับอาสาพาย้อนไปดูเหตุการณ์ในอดีตก่อนที่รถเมล์จะรวมกันเป็น ขสมก.ว่าเขาคุยกันอย่างไร

การขนส่งเมืองไทย

ก่อนที่จะมีรถเมล์หรือรถประจำทางนั้น พาหนะที่ใช้ในการขนส่งสำหรับคนเมืองหลวงคือ เรือ เกวียน ม้า รถม้า รถเจ๊ก สามล้อถีบ รถราง และรถไฟ

เมื่อประมาณปี 2451 พระยาภักดีนรเศรษฐ์ (เลิศ เศรษฐบุตร) เป็นคนแรกที่เดินรถเมล์สายแรกระหว่างประตูน้ำ-สี่พระยา สระปทุม-สะพานยศเส ตอนนั้นเก็บค่าโดยสารตามระยะทางใกล้-ไกล คือ 3 สตางค์ 5 สตางค์ แต่ถ้านั่งจากต้นทางถึงปลายทางเก็บ 10 สตางค์

รถเมล์นายเลิศนี้คนทั่วไปรู้จักกันในนามรถเมล์ขาว เพราะทาสีขาวทั้งคัน คนขับและกระเป๋าก็แต่งชุดขาวทุกคน ต่อมามีบริษัทประกอบการรถเมล์เกิดขึ้นหลายบริษัทตามจำนวนเส้นทางและประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดย บริษัท นายเลิศ จำกัด ยังเป็นรายใหญ่ที่ดำเนินการรถเมล์เพิ่มขึ้นถึง 800 คัน ใน 21 เส้นทาง

ส่วนบริษัทอื่นๆ อีก 18 บริษัท เช่น บริษัท รถเมล์เหลือง จำกัด บริษัท ศรีนคร จำกัด บริษัท ไทยประดิษฐ์ จำกัด บริษัท ศิริมิตร จำกัด และองค์การ ร.ส.พ. เป็นต้น แต่ละบริษัทมีจำนวนรถและเส้นทางเดินรถไม่มาก บางบริษัทมี 2-3 เส้นทาง จำนวนรถ 30-40 คัน

เท่าที่พอจำได้ สาย 1 ถนนตก-ท่าเตียน นั้นเป็นเส้นทางของ ร.ส.พ. สาย 2 ปากคลองตลาด-พระโขนง สาย 8 สะพานพุทธ-ลาดพร้าว เป็นเส้นทางเดินรถของรถเมล์ขาว หรือบริษัท นายเลิศ จำกัด สาย 37 บางปะกอก-มหานาค เป็นเส้นทางของรถเมล์เหลือง

ส่วนค่าโดยสารที่คนกรุงเทพฯ จ่ายก่อนรวมกันเป็น ขสมก.เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพียง 75 สตางค์ ซึ่งก็ถือว่าแพงแล้ว (โอเลี้ยงแก้วละ 1 บาท)

ต้องรวมรถเมล์

ส่วนต้นเหตุที่จะรวมเป็น ขสมก.นั้นมาจากการดำริและนโยบายของรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และมาเป็นจริงในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2518 จุดประสงค์ก็เพื่อพัฒนากิจการการขนส่งมวลชนให้เป็นที่พึ่งของประชาชน พร้อมกับขู่บริษัทรถเมล์ที่มีอยู่ตอนนั้นว่าใครไม่รวมจะไม่ได้สัมปทานเดินรถ ทำให้ทุกบริษัทต้องยอม

แต่ก่อนที่จะเป็น ขสมก.เช่นที่เรารู้จักทุกวันนี้ รถเมล์ที่มารวมกันได้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า บริษัท มหานครขนส่ง จำกัดโดยมีศาสตราจารย์สมพงษ์ จุ้ยศิริ อดีตผู้จัดการบริษัท นายเลิศ จำกัด เป็นผู้จัดการใหญ่

ศาสตราจารย์สมพงษ์ จุ้ยศิริ เล่าว่า พอตั้งเป็นบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ได้วันเดียวเท่านั้น พนักงานทุกระดับตั้งแต่ พขร. พขต. สไตรก์เรียกร้องขอเป็นรัฐวิสาหกิจ อ้างว่าเข็ดแล้วที่อยู่กับเอกชน เหตุนี้รัฐบาลจึงต้องเปลี่ยนจากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาเป็นองค์การขนส่งมวลชน หรือ ขสมก.ในปัจจุบัน โดยมี เฉลียว สุวรรณกิตติ เป็นผู้อำนวยการ ศาสตราจารย์สมพงษ์ เป็นรองผู้อำนวยการ

เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพการดำเนินการของภาครัฐว่าเขาพยายามกันขนาดไหนที่จะให้รถเมล์รวมกัน ผมจึงขอนำบันทึกเหตุการณ์ของสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ ที่บันทึกไว้ตั้งแต่ 10 ม.ค. 2518-20 ธ.ค. 2518 มาให้อ่านกันดังนี้

การรวมบริษัทรถเมล์ในกรุงเทพฯ

นายมนัส คอวนิช อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ในขณะนั้น) แถลงกรณีปัญหาการรวมรถเมล์โดยสารในกรุงเทพฯ ควรดำเนินงานตั้งเป็นองค์การ ของรัฐขึ้น เพื่อรวมกิจการรวมรถแต่ละบริษัทให้มีลักษณะคล้ายระบบสหกรณ์ แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเดิมยังคงสภาพการเป็นเจ้าของอยู่

คณะกรรมการควบคุมรถโดยสารประชุมพิจารณาปัญหาการรวมรถเมล์ โดยมีมติในการวางแนวทางรวมรถเมล์ไว้ 4 ประการ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีในสมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่ตัดสินปัญหาการรวมรถเมล์ในกรุงเทพฯ โดยจะยกเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลชุดใหม่ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจเอง

นายสุจินต์ ประกอบผล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยประดิษฐ์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมผู้ประกอบการขนส่ง แถลงข่าวเกี่ยวกับการเสนอโครงการรวมรถเมล์เป็นบริษัทเดียวต่อรัฐบาล

คุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ ประธานกรรมการบริษัท นายเลิศ จำกัด ชี้แจงกรณีการคัดค้านรวมกิจการเดินรถเมล์ตามโครงการของรัฐบาล

นายเล็ก สินธุชัย เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการขนส่ง เสนอแนะเกี่ยวกับการรวมรถเมล์ ควรมีบริษัทเป็นแกนกลางที่เกิดจากทุกบริษัทร่วมมือกันเอง และอยู่ใต้การดูแลของรัฐบาล เพื่อไม่ให้ฝ่ายรถเมล์เอาเปรียบประชาชน และในทำนองเดียวกันก็ไม่ให้ฝ่ายรถเมล์ขาดทุน

พล.ต.ศิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงกรณีการรวมรถเมล์ซึ่งตกลงกันได้ และจะเปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนในเวลา 5 ปี

ตัวแทนพนักงานรถเมล์ขาวร้องเรียนต่อกรรมาธิการคมนาคมของรัฐสภาให้ยับยั้งการรวมรถเมล์ ระบุทำให้ฝ่ายรถเมล์ขาวเสียเปรียบ และทำให้เกิดภาวะเสือนอนกิน

นายสมพงษ์ จุ้ยศิริ ผู้จัดการบริษัท นายเลิศ จำกัด แถลงกรณีการมอบปัญหาการรวมรถเมล์ให้คณะกรรมาธิการคมนาคมของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณา เพราะถือว่าเป็นคณะกรรมการระดับชาติ

นายเล็ก สินธุชัย เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการขนส่ง ชี้การรวมรถเมล์เป็นบริษัทเดียวตามนโยบายของรัฐบาล เป็นการขัดกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

นายเสริมชาติ ยามะรัตน์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาการรวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ ด้วยการรวมกันเป็นบริษัทมหาชน และพยายามรวมกันให้เหลือประมาณ 2 หรือ 3 บริษัท

เบื้องหลังการรวมรถเมล์เป็นบริษัทเดียว

รัฐบาลได้ยื่นคำขาดหากไม่รวมจะไม่ให้สัมปทาน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยื่นญัตติซักฟอก พล.ต.ศิริ สิริโยธิน แห่งพรรคชาติไทย สส.ฝ่ายรัฐบาล กรณีรวมบริษัทรถเมล์ในรูปบริษัทมหาชน

พนักงานองค์การ ร.ส.พ. นัดหยุดงานเรียกร้องให้รัฐบาลรวมรถเมล์เป็นรูปรัฐวิสาหกิจ ระบุเหตุผลทำให้พนักงานได้รับความเป็นธรรมในด้านค่าจ้างและสวัสดิการ ไม่ต้องหวั่นเกรงการถูกเลิกจ้าง

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ยืนยันให้รวมรถเมล์โดยยึดหลักการประนีประนอม

พล.ต.ศิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงกรณีการรวมรถเมล์ รัฐบาลจะเป็นผู้จัดรูปบริษัท โดยรัฐบาลถือหุ้นร้อยละ 51 และเป็นผู้รับสัมปทานการเดินรถทั้งหมดต่อจากบริษัทเอกชนที่จะหมดอายุลง ส่วนอีกร้อยละ 49 ให้ผู้ประกอบการถือหุ้น รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนเริ่มแรก 100 ล้านบาท

รถเมล์สไตรก์

ตัวแทนพนักงานบริษัทเดินรถเมล์ 18 บริษัท เรียกร้องให้รัฐบาลรวมรถเมล์เป็นรัฐวิสาหกิจในรูปขององค์การที่รัฐบาลดำเนินการร้อยเปอร์เซ็นต์ และยื่นคำขาดให้รัฐบาลตอบภายใน 48 ชั่วโมง ต่อมาปรากฏว่ารถเมล์ทั่วกรุงเทพฯ ยกเว้นบริษัท ขนส่ง บริษัท นายเลิศ และบริษัท ไทยประดิษฐ์ ได้หยุดบริการตามปกติ จนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยการนำรถทหารออกรับส่งผู้โดยสาร หลังจากผละงานประมาณ 30 ชั่วโมง รถเมล์จึงได้วิ่งตามปกติ

บริษัทใหม่

บริษัท มหานครขนส่ง จดทะเบียนบริษัทเรียบร้อย และประกาศขายหุ้นให้พนักงานด้วยราคาหุ้นละ 100 บาท เพื่อให้พนักงานรถประจำทางมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการรถประจำทาง

นายบุญยง วัฒนพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงเกี่ยวกับการบริการของรถเมล์ในรูปบริษัท มหานครขนส่ง โดยจะเดินตามเส้นทางเดิมก่อนจนกว่าจะปรับปรุงการจราจรเรียบร้อยจึงจะกำหนดเส้นทางเดินใหม่

ผู้ประกอบการรถเมล์บริษัทต่างๆ ร่วมประชุมหารือเรื่องเป้าหมายและการบริหารงานของบริษัท มหานครขนส่ง คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดรถเมล์ในรูปบริษัทมหาชน

นายศิริลักษณ์ จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม แถลงเกี่ยวกับการพิจารณาการจองหุ้นในบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด และกำหนดวิธีการแสดงบัญชีทรัพย์สินบริษัทรถเมล์ที่ขายกิจการให้รัฐบาล การแสดงบัญชีจำนวนคน ตลอดจนระเบียบข้อบังคับและระบบสวัสดิการพนักงานของบริษัทใหม่

พล.ต.ศิริ สิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงเกี่ยวกับการเปิดบริการรถประจำทางฟรีให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2518 เป็นต้นไป

นายมนัส คอวนิช ประธานกรรมการบริษัท มหานครขนส่ง แถลงผลคืบหน้าการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งรวมกิจการรถเมล์ทุกบริษัทให้เหลือเพียงบริษัทเดียว ประสบปัญหาหนักเกี่ยวกับการตีราคาทรัพย์สินไม่ได้

พนักงานบริษัทนายเลิศหยุดงาน

พนักงานบริษัท นายเลิศ จำกัด หยุดงาน เพื่อเรียกร้องเงินช่วยค่าครองชีพจากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด

กระทรวงคมนาคมแถลงแก้ข้อกล่าวหาที่ระบุว่ารวบอำนาจตั้งบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด เพราะไม่ต้องการให้การดำเนินงานผิดพลาด

นายสดับ มาศกุล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่ง เปิดเผยเกี่ยวกับการทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เร่งรัดให้บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ทำการตีราคารถเมล์พร้อมทั้งทรัพย์สินอื่นๆ ของบริษัทผู้ประกอบการขนส่ง

นายเฉลียว สุวรรณกิตติ ผู้จัดการใหญ่บริษัท มหานครขนส่ง แถลงเกี่ยวกับโครงการปรับปรุงบริการรถเมล์นครหลวง โดยจะจัดรถเมล์ติดแอร์บริการ และเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์ใหม่รวม 85 สาย (10 ม.ค. 2518-20 ธ.ค. 2518)

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีผู้มีนามว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มอบให้คนกรุงเทพฯ เมื่อปี 2518 และเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน

(ข้อมูลจากสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ

ความเป็นมาของกิจการรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร ตามประวัติกล่าวว่ารถเมล์โดยสารประจำทางในสมัยก่อนเรียก ว่ารถเมล์ เข้าใจว่าคงเรียกชื่อตามเรือเมล์ รถเมล์ประจำทางที่มีครั้งแรกนั้น ใช้กำลังม้าลากจูงแทน ไม่ต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นภาระเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการ เช่นในปัจจุบัน ซึ่งพระยาภักดี นรเศรษฐ (นายเลิศ เศรษฐบุตร) เป็นผู้ริเริ่มกิจการรถเมล์เมื่อราวปี พ.ศ. 2450 วิ่งจากสะพานยศเส (กษัตริย์ศึก) ถึงประตูน้ำสระปทุม แต่เนื่องจาก ใช้ม้าลากจึงไม่รวดเร็วทันใจ และไม่สามารถให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 พระยาภักดีฯ จึงได้ปรับปรุงกิจการใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินรถ โดยนำรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดมาวิ่งแทนรถเดิม ที่ใช้ม้าลาก และขยายเส้นทางให้ไกลขึ้น จากประตูน้ำสระปทุมถึงบางลำพู(ประตูใหม่ตลาดยอด)

รถยนต์ที่ใช้ เป็นรถโดยสารประจำทางครั้งแรกมี 3 ล้อ ขนาดเท่ากับ 1 ใน 3 ของรถโดยสารประจำทาง ในปัจจุบัน มีที่นั่ง 2 แถว ทาสีขาว มีกากบาทสีแดง นั่งได้ประมาณ 10 คน คนทั่วไปเรียกว่าอ้ายโกร่ง เพราะวิ่งไปตามถนนมีเสียงดังโกร่งกร่าง ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็ว ในการเดินทางเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย รถเมล์จึงขยายตัวอย่างกว้างขวาง ออกไปทั่วกรุงเทพฯ ในนามของบริษัท นายเลิศ จำกัดหรือบริษัทรถเมล์ขาว การประกอบอาชีพการเดินรถ โดยสารประจำทางได้ขยายตัวขึ้น เมื่อรัฐบาลมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี (พ.ศ. 2475) พร้อมทั้งได้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนคร และธนบุรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 กิจการรถเมล์เริ่มเป็นปึกแผ่น ได้มีเศรษฐีชาวจีนเล็งเห็นว่า การประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง เป็นอาชีพที่มั่นคง และทำรายได้ดีอย่างหนึ่ง จึงได้ก่อตั้ง บริษัทเดินรถโดยสารประจำทาง ขึ้นชื่อบริษัท ธนนครขนส่ง เดินรถจากตลาดบางลำพู ถึงวงเวียนใหญ่ หลังจากนั้นได้มีผู้ลงทุน ตั้งบริษัทรถโดยสารประจำทาง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจและราชการ ก็ทำการเดินรถด้วย คือ เทศบาลนครกรุงเทพฯ เทศบาลนนทบุรี บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) และบริษัทเอกชนอีก 24 บริษัท รวมผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทาง ในกรุงเทพฯ ขณะนั้นมีถึง 28 ราย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางราชการได้ขายรถบรรทุกให้เอกชน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเอกชนได้นำรถบรรทุก มาดัดแปลงเป็นรถ โดยสารประจำทาง มีการเลือกเส้นทางเดินรถเอง โดยไม่ให้ซ้ำกับ เส้นทางที่มีรถรางวิ่งอย่างเสรี จึงก่อให้เกิดการแข่งขันกันขึ้น รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.บ. การขนส่ง ในปี พ.ศ. 2497 มาควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถ โดยสารประจำทาง ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งและ ในระยะหลังๆ การให้บริการรถเมล์ชักจะเกิดความสับสน มีการเดินรถทับเส้นทางกันบ้าง แก่งแย่งผู้โดยสารกันบ้าง การให้บริการของแต่ละ บริษัทก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ปล่อยให้มีการเดินรถอย่างเสรี ทำให้เกิดปัญหา ความคับคั่งของ การจราจร เนื่องจากจำนวนรถ ในท้องถนนมีมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผลเสียทั้งหมดตกอยู่กับ ผู้ใช้บริการทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ ได้ประสบปัญหา ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมัน ในตลาดโลกได้เพิ่มสูงขึ้น อย่างฉับพลัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา แต่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถจะปรับอัตราค่าโดยสาร ให้เพิ่มขึ้นในอัตราสมดุลกับราคาน้ำมันได้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นผลให้ หลายบริษัทเริ่มประสบกับปัญหา การขาดทุน บางบริษัทก็มีฐานะทรุดลงจนไม่สามารถ จะรักษาระดับบริการที่ดี แก่ประชาชนต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการรวมรถ โดยสารประจำทางต่างๆ ให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว

ครั้นในเดือนกันยายน 2518 ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติของคณะรัฐมนตรี ให้รวมรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานคร เป็นบริษัทเดียว เรียกว่า "บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เป็นรูปรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัท จำกัด มีรัฐถือหุ้นอยู่ 51% และเอกชนถือหุ้น 49% แต่การรวมและการจัดตั้งเป็นบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ในขณะนั้นมีปัญหาบางประการ ในเรื่องของกฎหมายการ จัดตั้งในรูปแบบ ของการประกอบกิจการขนส่ง ดังนั้น ต่อมาในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งเป็นองค์การขอรัฐให้ชื่อว่า "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยรวมกิจการรถโดยสารทั้งหมด จากบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจ และขอบเขตความรับผิดชอบ ในการจัดบริการ รถโดยสารประจำทางวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง 5 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และนครปฐม มีผู้ใช้บริการ ประมาณกว่า 3 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ในด้านประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับ การประกอบการขนส่งบุคคล เนื่องจากกิจการเดินรถโดยสารประจำทาง จัดเป็นสาธารณูปโภค ชนิดหนึ่งของรัฐที่ให้บริการแก่ประชาชน ผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินการ จึงมุ่งสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในด้านการให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไร การจัดเก็บอัตราค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราต่ำกว่าต้นทุน ตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบาย การให้บริการของ ขสมก. มุ่งในด้านความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการเดินรถของ ผู้โดยสารเป็นหลัก

ประวัติการก่อตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

กิจการรถเมล์ได้ถือกำเนิดเป็นครั้งแรกในเมืองหลวง โดย พระยาภักดีนรเศรษฐ์ (เลิศ เศรษฐบุตร) ในปี พ.ศ. 2450 ช่วงแรกเป็นรถเทียมม้า ต่อมาเป็นรถยนต์ สามล้อ ยี่ห้อฟอร์ด มีที่นั่งยาวเป็นสองแถว กิจการรถเมล์เจริญ ขึ้นเป็นลำดับ และขยายเส้นทางออกไป ทั่วพระนครในปี พ.ศ. 2476

กิจการรถเมล์ได้เจริญเติบโตขึ้นพร้อมกับความเจริญรุ่งเรืองของเมืองหลวงและการเพิ่มของประชากร เมื่อมีบริษัทรถเมล์ มากขึ้น เส้นทางวิ่งก็มากขึ้น และขยายไกลออกไป ลักษณะเส้นทาง จะวกวนซับซ้อน การจราจรจะเริ่ม คับคั่งติดขัด เพราะเป็นรถเมล์เอกชน ที่ต่างก็มุ่งบริการเพื่อแสวงหาผลกำไร เพียงอย่างเดียว โดยไม่พยายามปรับปรุงด้าน การบริการ ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2516-2518 เกิดภาวะเงินเฟ้อ ผู้ประกอบการเริ่มเรียกร้องให้มีการปรับปรุง ค่าโดยสารและใช้แรงงานเป็นเครื่องมือ เร่งรัดบีบรัฐบาล จนในที่สุดรัฐบาลต้องมารับภารกิจในด้านการขนส่งเอง

ในปี พ.ศ. 2514 ผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลเยอรมัน ได้ทำการสำรวจภาวะ การจราจรในกรุงเทพฯ เสนอ แนะให้รวม รถเมล์เอกชน ขณะนั้นมีจำนวน 24 บริษัท และของรัฐอีก 2 แห่ง มีรถประจำการ 3,773 คัน ควรรวมเป็นราย เดียวกัน จะเป็นเอกชนหรือรัฐบาล หรือเอกชนร่วมกับรัฐก็ได้ ถ้าเอกชนร่วมกับรัฐก็ได้ ถ้าเอกชนรวมกันไม่ได้ รัฐควรเป็น ผู้ดำเนินการรวมเสียเอง โดยการรับซื้อ รถยนต์เก่าและงดต่อใบอนุญาต ซึ่งหมดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2518

จุดเริ่มต้นของการรวมรถเมล์อย่างจริงจัง คือในสมัย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแผน การที่จะขจัด ปัญหาความยากจน ของประชาชนในเมืองหลวง ให้ผู้มีรายได้ต่ำและบุตรหลาน นักเรียน นักศึกษา ไม่ต้องเสีย ค่าโดยสารรถเมล์ จากเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงตัดสินใจ รวมรถเมล์เป็นรูป บริษัท รัฐวิสาหกิจ "บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด" เริ่มกิจการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2518 เป็นกิจการสาธารณูปโภค ด้านการบริการประชาชน โดยไม่หวังผลกำไร

จากปัญหา ข้อกฎหมาย และการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลใหม่ รัฐบาลจึงให้ยกเลิก การดำเนินการในรูป บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด เป็นองค์การ ในรูปรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งโดย พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเป็น "องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ" เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม 2519 และเริ่มดำเนิน กิจการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ เดิน รถโดยสารประจำทาง ให้บริการประชาชนในเขต 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ


1 ความคิดเห็น: