วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ที่มาของคำว่า "กระเป๋ารถเมล์"

กระบอกตั๋วคู่ชีพ

แก๊ป...แก๊ป...ค่าโดยสารด้วยครับ แก๊ป...แก๊ป...มีตั๋วหรือยังครับ เสียงเหล่านี้คงได้ยินชินหูบนรถเมล์ ขสมก. ในชีวิตประจำวันของชาว กทม.ที่อาศัยรถเมล์เป็นพาหนะในการเดินทางไปประกอบสัมมาชีพ และผู้ที่ทำให้เกิดเสียงดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหนก็คือ พนักงานเก็บค่าโดยสารนั่นเอง
เมื่อมานั่งพิจารณาทบทวนดูว่า “กระบอกตั๋ว” ที่พนักงานถืออยู่ในมือควบคู่กันไปกับการเก็บค่าโดยสารมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ก็อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เดิมทีเดียวการเก็บค่าโดยสารโดยใช้ตั๋วเริ่มมาจากเรือเมล์ก่อน เพราะเรือเมล์เกิดก่อนรถเมล์ ตั๋วที่ใช้กับเรือเมล์นั้นจะเป็นชนิด “ตั๋วพับ” แบบซ้อนกันเป็นพับๆ จึงนิยมเรียกว่า “ตั๋วพับ” มีลักษณะเป็นแถว แถวละ 5 ใบพันซ้อนกัน การใช้จะใช้มือฉีก (เล็บฉีก) สมัยก่อนพนักงานผู้เก็บค่าโดยสารจึงนิยมไว้เล็บกันยาวพอสมควร เพื่อสะดวกในการฉีกตั๋ว ลักษณะตั๋วมีสีต่างตามชนิดราคา เช่น 5 สต. 10 สต. 15 สต. เป็นต้น ตั๋วพับหนึ่งปึกหนึ่งจะมี 100 ใบ 500 ใบ วิธีใช้จะใช้ผ้าหนาๆ เย็นเป็นเข็มกลัดรัดตั๋วไว้เป็นพับๆ ยามประมาณ 5-6 นิ้ว กว้าง1นิ้วพอดีเท่ากับตั๋ว (ซึ่งลักษณะเป็นเล่มยาวๆแบบตั๋วคูปองนักเรียนแต่จะยาวกว่า) โดยจะใช้ฉีกตั๋วเป็นใบๆให้แก่ผู้โดยสาร
ต่อมาในราวปี พ.ศ.2461 บริษัทนายเลิศ ซึ่งเป็นบริษัทเดินรถเมล์ในกรุงเทพเป็นครั้งแรก ได้นำตั๋วพับของเรือเมล์มาใช้กับรถเมล์ขาวของบริษัทนายเลิศเป็นครั้งแรก ซึ่งโรงพิมพ์ตั๋วรถเมล์ดูเหมือนจะมีไม่มากในสมัยนั้น เช่น ที่โรงพิมพ์รวมช่าง อยู่แถวตลาดน้อย หรือที่ร้านศิริวิทย์ ย่านบางลำพู เป็นต้น
ต่อเมื่อเพื่อสะดวกในการเก็บค่าโดยสารได้รวดเร็วขึ้น บริษัทนายเลิศได้เปลี่ยนตั๋วพับมาเป็นตั๋วม้วนพร้อมกับนำกระบอกตั๋วมาใช้ควบคู่กันเป็นบริษัทแรก กระบอกตั๋วสมัยก่อนทำด้วยโลหะทองเหลือง ยาวประมาณ 1 ฟุต มีขนาดเดียว ทำเป็นช่องๆ 4-5ช่อง โดยมีตั๋วสำรองเก็บไว้ในแต่ละช่อง เพื่อเตรียมพร้อมตั๋วมีแต่ละขนาดราคา กระบอกตั๋วนี้จะใช้เก็บตั๋วอย่างเดียว ไม่ใช้เก็บเศษเหรียญหรือค่าโดยสารอย่างปัจจุบัน ซึ่ง พกส.จะมีกระเป๋าสะพายไว้เก็บเงินโดยเฉพาะ (เป็นลักษณะคล้ายกระเป๋าสุภาพสตรี แต่ใบจะเล็กกว่ามีสายสะพายยาวไว้คล้องช่วงคอและบ่า)
ในระยะหลังต่อมาพิจารณาเห็นว่า กระเป๋าสายสะพายเกะกะไม่สะดวกต่อการใช้ เพราะต้องเบียดเสียดกับผู้โดยสารจึงไม่คล่องตัวเท่าที่ควร จึงหันมานิยมใช้เศษเหรียญเก็บในช่องกระบอกตั๋วแทน โดยทำเป็นช่องใหญ่กว่าเก็บตั๋วธรรมดา กระบอกตั๋วจึงมีลักษณะความยาวแตกต่างกันตามแต่ละบริษัท เพราะบางบริษัทมีตั๋วราคาเดียว หรือ 2-3ราคา ตามความเหมาะสม แต่ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ชนิด คือชนิดสั้น ชนิดกลาง และชนิดยาว และต่อมาได้เปลี่ยนชนิดทำด้วยโลหะทองเหลืองมาเป็นทำด้วย โลหะสังกะสีตะกั่ว ซึ่งแหล่งจำหน่ายกระบอกตั๋วมีอยู่ตามย่านตลาดใหญ่ๆ เช่น แถวเฉลิมกรุง ย่านบางลำพู เป็นต้น
จากนั้นได้วิวัฒนาการดัดแปลงกระบอกตั๋วมาเป็นแบบ สแตนเลส ตามความนิยมแทน ทั้งนี้ เพื่อคงทนถาวรและสวยงาม ปัจจุบันหาซื้อได้ตามแหล่งตลาดใหญ่ๆ ในราคา 150-200 บาทตามแต่ลักษณะสั้นยาว

กระบอกตั๋ว นับว่ามีความสำคัญต่ออาชีพกระเป๋ารถเมล์อย่างยิ่ง จะเรียกว่า “กระบอกตั๋วคู่ชีพ พกส.” ก็เห็นจะไม่ผิด เพราะก่อนจะขึ้นมาเป็นพนักงานเก็บค่าโดยสารนั้น ทุกคนจะต้องมี “กระบอกตั๋ว” ติดตัวเตรียมพร้อมเสมอ มีฉะนั้น จะไม่มีโอกาสได้ขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถอย่างเด็ดขาด ดังนั้น เสียงแก๊ปๆ... ที่ได้ยินได้ฟังนั้น แม้อาจจะทำให้เป็นที่น่ารำคาญบ้างก็ตาม...แต่คุณค่าของมันนั้นนับว่าสำคัญไม่น้อย เพราะวันหนึ่งๆ สามารถหารายได้เข้าองค์การฯ วันละ 14-15 ล้านบาททีเดียว และทำให้องค์การฯยืนหยัดมาได้ถึง ปัจจุบัน

จากหน้า 23 วารสารล้อหมุน ฉบับที่ 167 ปีที่ 18 กุมภาพันธ์ 2538


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น